ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 37 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

ความผิดเกี่ยวกับพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 กับความผิดฐานหมิ่นประมาทด้วยการโฆษณาเป็นอย่างไร และการต่อสู้คดีหมิ่นประมาท การต่อสู้คดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ อุทธรณ์ฏีกาคดีความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์

                   พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2560 มาตรา 14(1)  กำหนดความผิดให้ผู้กระทำความผิดโดยทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

                   ซึ่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560  และส่วนมากหากมีคดีเกี่ยวกับการหมิ่นประมาททางเฟสบุ๊คหรืออินเตอร์เน็ต  พนักงานสอบสวนและทนายมักจะตั้งข้อหาว่ามีความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 326 และมาตรา 328 และความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.2550  ซึ่ง ณ ปัจจุบันกฎหมายฉบับใหม่มีการแก้ไขเรื่องดังกล่าวไว้แล้วว่าต้องไม่ใช่ความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญาด้วย  ดังนั้นคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ หรือศาลฏีกา  ศาลต้องนิรโทษกรรมแก่จำเลยเหล่านั้นด้วย ในทางปฏิบัติจำเลยควรให้ทนายจำเลยยื่นคำร้องแถลงต่อศาล หรือหากคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ ฏีกาก็ควรยื่นคำร้องแสดงเหตุผลดังกล่าวให้ศาลทราบเพื่อมีผลในการเขียนคำพิพากษาของศาลสูงต่อไปด้วย  หากอยู่ระหว่างสอบสวนทนายก็ต้องแถลงให้พนักงานสอบสวนทราบ หรือต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคดีด้วย หรือทำหนังสือร้องขอความเป็นธรรมในการตั้งข้อหาหรือการสรุปสำนวนของพนักงานสอบสวนเพื่อให้บทบัญญัติของกฎหมายได้เป็นไปโดยถูกต้องและเป็นไปตามเจตนารมย์ของการบัญญัติกฎหมายดังกล่าว  โดยหากมีการตั้งข้อหาไม่ถูกต้องหรือสรุปสำนวนไม่ถูกต้องอาจทำให้ต้องใช้วงเงินประกันตัวมากขึ้นหรือใช้ดุลพินิจไม่อนุญาตให้ประกันตัวได้ อีกทั้งต้องไปต่อสู้คดีให้หลุดในประเด็นที่ฟ้องอีกด้วย  By www.siaminterlegal.com