ขณะนี้มีผู้เข้าชม

เรามี 38 บุคคลทั่วไป ออนไลน์

ขอคุ้มครองชั่วคราวกรณีฉุกเฉินคืออะไร โดนคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแก้ปัญหาอย่างไร การคัดค้านการขอคุ้มครองชั่วคราว การอุทธรณ์คำสั่งคุ้มครองชั่วคราว การฏีกาคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

                   การขอคุ้มครองชั่วคราวในเหตุฉุกเฉิน (ศาลต้องมีคำสั่งในวันยื่นเท่านั้น) โจทก์หรือจำเลยฟ้องแย้งต้องยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวตาม ป.วิ.พ. มาตรา 254 และยื่นคำร้องขอให้ศาลทำการไต่สวนในกรณีฉุกเฉิน เพื่อให้ศาลทำการไต่สวนและมีคำสั่งตามที่ขอโดยเร็วตามมาตรา 266  ซึ่งเมื่อยื่นแล้วศาลมีอำนาจใช้ดุลพินิจว่ามีเหตุฉุกเฉินหรือไม่  หากเห็นว่าไม่มีเหตุฉุกเฉินศาลสามารถยกคำร้องได้เลย และไม่ต้องพิจารณาว่ามีเหตุสมควรคุ้มครองชั่วคราวหรือไม่  หากศาลเห็นว่าคดีมีเหตุฉุกเฉินและคำขอนั้นมีเหตุอันสมควรอันแท้จริงศาลจะมีคำสั่งหรือออกหมายตามที่ขอภายในขอบเขตและเงื่อนไขไปตามที่เห็นจำเป็นทันที  แต่หากศาลยกคำขอคำสั่งเช่นนั้นให้เป็นที่สุดตามมาตรา 267 วรรคแรก  หากศาลอนุญาตไม่มีกฎหมายบัญญัติให้เป็นที่สุดและถือว่าเป็นคำสั่งตามมาตรา 228(2)  คือจำเลยจะอุทธรณ์หรือจำเลยจะขอให้ยกเลิกคำสั่งก็ได้

                  หากศาลอนุญาตแล้วจำเลยหรือโจทก์ที่เป็นจำเลยในส่วนฟ้องแย้งอาจยื่นคำขอโดยพลันให้ศาลยกเลิกคำสั่งหรือหมายนั้นเสีย  โดยศาลต้องพิจารณาและไต่สวนโดยเร่งด่วนเช่นเดียวกัน  หากศาลเห็นว่ามีเหตุผลเพียงพอที่ศาลจะยกเลิกคำสั่งหรือยกเลิกหมายนั้นศาลจะมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งหรือหมายนั้นได้ และคำสั่งศาลกรณีนี้เป็นสุดตามมาตรา 267 วรรคสอง  แต่หากศาลยกคำขอของจำเลยกฎหมายไม่ได้บัญญัติให้เป็นที่สุด จำเลยจึงอุทธรณ์ฏีกาต่อไปได้ เพราะถือว่าเป็นคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของคู่ความในระหว่างการพิจารณาตามมาตรา 228(2)  หากศาลศาลอุทธรณ์ให้ยกเลิกคำสั่งย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 267 วรรคสอง  และบุคคลภายนอกคดีก็มีสิทธิขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งได้เช่นเดียวกัน และไม่มีกฎหมายห้ามอุทธรณ์ฏีกา
                  

                   หากศาลยกคำร้องขอในเหตุฉุกเฉินที่โจทก์ขอหรือศาลยกเลิกคำสั่งตามที่จำเลยร้องขอให้ยกเลิก ย่อมไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะขอคุ้มครองชั่วคราวตามมาตรา 254 นั้นใหม่ ตามมาตรา 267 วรรคสาม คือโจทก์สามารถคุ้มครองชั่วคราวเข้ามาใหม่โดยวิธีธรรมดาเท่านั้น หากขอฉุกเฉินมาอีกจะเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ  ซึ่งการขอคุ้มครองชั่วคราวในเหตุฉุกเฉินในชั้นศาลอุทธรณ์ฏีกาก็มีได้

                  การขอคุ้มครองชั่วคราวในเหตุฉุกเฉินที่จะต้องเข้าหลักเกณฑ์ข้างต้นเฉพาะที่เป็นการสั่งของศาลในวันเดียวกับวันที่ยื่น  หากขอคุ้มครองแบบฉุกเฉินแต่ศาลสั่งคนละวันกับวันยื่น ถือว่ามีคำสั่งโดยวิธีธรรมดา  กรณียกคำร้องขอเป็นคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอคุ้มครองชั่วคราว สามารถอุทธรณ์ฏีกาต่อไปได้ตามมาตรา 228(2) , 228(2) ประกอบ 247 

                  หากศาลอนุญาตให้คุ้มครองเป็นคำสั่งอันเกี่ยวด้วยคำขอคุ้มครองชั่วคราว สามารถอุทธรณ์ฏีกาต่อไปได้ตามมาตรา 228(2) , 228(2) ประกอบ 247 นอกจากนี้จำเลยยังใช้สิทธิขอให้ศาลมีคำสั่งยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวได้ตามมาตรา 261 ,262 แล้วแต่จะเลือก (ไม่ใช่มาตรา 267)  ซึ่งเมื่อจำเลยยื่นคำขอให้ศาลยกเลิกคำสั่งนั้นไม่ว่าศาลจะสั่งอย่างไร คู่ความก็อุทธรณ์ฏีกาได้ เพราะถือว่าเป็นคำสั่งเกี่ยวด้วยคำขอคุ้มครองประโยชน์ชั่วคราวตามมาตรา 228(2)  

                   ดังนั้น เมื่อโดนร้องขอคุ้มครองชั่วคราว หรือศาลมีคำสั่งอย่างใดต้องทราบว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร และมีสิทธิดำเนินการตามกฎหมายอย่างใดบ้าง  By www.siaminterlegal.com